คอลัมน์การเมือง – โชคดีๆ ของ ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’

การได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนนเสียง 1.3 ล้านเสียง กลายเป็นเกราะคุ้มกันประการหนึ่งที่ “เป็นความชอบธรรม” ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถึงขั้นที่การทำงานในระยะสั้นๆ แม้ดูจะยังขาดประสิทธิภาพและหลงประเด็นอยู่บ่อยๆ ก็ยังมีคน “คุ้มครองปกป้อง” และได้รับ “คำแนะนำ” มากกว่าคำสาปแช่ง

2 คำแนะนำที่อยากให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ “ใส่ใจ” ในช่วงเวลานี้ คือ คำแนะนำของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ กับของ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

1) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร โพสต์เฟซบุ๊คเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เรื่อง “แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ” อย่ามัวแต่ชู “เส้นเลือดฝอย” จนลืม “เส้นเลือดใหญ่” มีเนื้อหาว่า…

ผมเห็นใจท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่ต้องมาแก้ปัญหาน้ำท่วมในตอนรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายที่ผู้เพิ่งรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จะทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำของ กทม. และของหน่วยงานอื่นได้แบบไร้รอยต่อ ผมจึงไม่ต้องการซ้ำเติมท่าน เพียงแต่อยากให้ท่านนำข้อเสนอของผมไปพิจารณาใช้เท่านั้น

1. ปีนี้ทำไมน้ำจึงท่วมกรุงเทพฯ ?

จากการเฝ้าติดตามการทำงานของท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติและทีมงาน พบสาเหตุที่ทำให้กรุงเทพฯ ต้องประสบวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ดังนี้

(1) เส้นเลือดใหญ่ไม่ได้รับการบริหารจัดการให้ถูกต้อง ทำให้เส้นเลือดใหญ่เป็นอัมพาต ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเป็นอัมพาตตามไปด้วย

เส้นเลือดใหญ่ประกอบด้วย ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่กทม. วางเพิ่มเติมโดยวิธีดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) คลองหลัก และอุโมงค์ระบายน้ำ ส่วนเส้นเลือดฝอยประกอบด้วย ระบบท่อระบายน้ำและระบบรางระบายน้ำจากผิวจราจร และคลองย่อย เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าช่วงนี้น้ำในคลองหลัก เช่น คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองประเวศฯ และคลองเปรมประชากร เป็นต้น มีระดับน้ำอยู่ในขั้นวิกฤต นั่นหมายความว่าในบางพื้นที่น้ำได้ล้นแนวเขื่อนกั้นน้ำเข้าท่วมแล้ว จนทำให้คนกรุงเทพฯ ในพื้นที่เหล่านั้นพูดว่า “น้ำล้นคลองไม่เกิดมานาน 20 ปีแล้ว เพิ่งมาเกิดอีกปีนี้แหละ” สถานการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าเส้นเลือดใหญ่มีปัญหาแล้ว

ถ้า กทม. ไม่เร่งแก้ปัญหาเส้นเลือดใหญ่ มัวแต่แก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยที่ผู้บริหาร กทม. ชุดนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น ก็จะไม่สามารถขนน้ำไปทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เนื่องจากน้ำจากเส้นเลือดฝอยจะต้องไหลผ่านเส้นเลือดใหญ่ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเส้นเลือดใหญ่เป็นอัมพาต ย่อมส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเป็นอัมพาตตามไปด้วย ทำให้หลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม

(2) ทีมงานบางคนสั่งการโดยมีข้อมูลไม่ครบถ้วน และ/หรือ ไม่รู้จักพื้นที่ดีพอ อีกทั้ง มีการสั่งการกับผู้ปฏิบัติงานที่อยู่หน้างานโดยตรง เป็นการสั่งการ“ข้ามหัว” ของหัวหน้าผู้ปฏิบัติงาน ทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมขาดการบูรณาการ ที่สำคัญ ไม่รับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น

2. ข้อเสนอแนะ

ผมขอเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังนี้ (1) ตรวจสอบการทำงานของเส้นเลือดใหญ่ว่าทำงานเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ? ถ้าไม่ ต้องเร่งแก้ไข ในกรณีที่น้ำไหลเข้าอุโมงค์ไม่ทัน ควรพิจารณาติดตั้งเครื่องสูบน้ำในคลองเพิ่มเติม เครื่องสูบน้ำเหล่านี้จะทำหน้าที่ส่งน้ำเป็นทอดๆ เพื่อให้สามารถนำน้ำเข้าสู่อุโมงค์ และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้น้ำจากเส้นเลือดฝอยไหลมาสู่เส้นเลือดใหญ่ได้ พูดได้ว่าทั้งเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ไม่เป็นอัมพาต

(2) กำชับให้ “ทีมงาน” ศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนสั่งการให้ผู้ปฏิบัติงานทำอย่างใดอย่างหนึ่ง และควรหลีกเลี่ยงการสั่งงานแบบ “ข้ามหัว” ที่สำคัญ ควรรับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานระบายน้ำมาอย่างยาวนาน

(3) ขอให้กรมชลประทานเร่งสูบน้ำออกจากคลองที่อยู่ติดกับทะเลอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้การระบายน้ำออกจากคลองในเขตกรุงเทพฯ ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว

3. สรุป :: ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ เป็นที่คาดหวังอย่างมากของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้ที่เลือกท่านให้มาแก้หลากหลายปัญหาของกรุงเทพฯ รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมที่ทำให้คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยต้องทุกข์ระทมอยู่ในเวลานี้ เหตุที่ท่านเป็นที่คาดหวังก็เพราะว่า ท่านเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการทำงานบริหารในฐานะรัฐมนตรีมาแล้ว อีกทั้ง ทราบจากการหาเสียงของท่านว่า ท่านได้ศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯมาเป็นอย่างดีก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. เป็นเวลาถึง 2 ปี

เมื่อท่านเป็นที่คาดหวังของคนกรุงเทพฯ แต่แก้ปัญหาให้เขาเหล่านั้นได้ไม่เท่ากับความคาดหวัง ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกตำหนิติเตียนบ้างเป็นธรรมดา ขอให้ถือว่าเป็นการ
“ติเพื่อก่อ” ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีต่อท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติและทีมงานครับ

2) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และวิศวกรธรณีเทคนิค โพสต์เฟซบุ๊คเสนอแนะว่า ในฐานะชาวบ้านคนกรุงเทพฯผู้ประสบภัย และวิศวกรธรณีเทคนิคคนหนึ่ง ขออนุญาตอธิบายกับหลายๆ ท่านที่ได้มาออกความเห็นในโพสต์ก่อนหน้า เป็นข้อมูลนะครับ

น้ำท่วมหนัก เพราะคลองประเวศ “เส้นเลือดใหญ่” อุดตัน จุดตายน้ำท่วมลาดกระบัง และกรุงเทพฝั่งตะวันออก

คลองประเวศบุรีรมย์เป็นคลองขุดในสมัยรัชกาลที่ 5 นำทีมขุดโดย เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ หรือ ท่านเจ้าคุณทหาร เจ้าของที่ดินเดิม ที่ภายหลังได้บริจาคให้สร้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ในอดีต คลองประเวศฯ ใช้ในการชลประทานและการเดินทางทางเรือ ต่อจากคลองพระโขนงแถววัดแม่นาคพระโขนง หรือวัดมหาบุศย์ ขุดขึ้นไปจนบรรจบกับแม่น้ำบางปะกง ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ความยาวร่วม 40 กว่ากิโลเมตร

ต้องรู้ว่า คลองประเวศฯ คือ คลองชลประทานมีลักษณะ ที่ต้องสูงกว่าพื้นที่ดินการเกษตร เพื่อส่งน้ำไหลลงหล่อเลี้ยงดูชุมชนการเกษตร ในพื้นที่กรุงเทพตะวันออกแต่เดิม ดังนั้นการจะระบายน้ำท่วม ก็ต้องสูบน้ำขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ไหลลงตามธรรมชาติ

ปัจจุบันการเดินเรือคลองประเวศฯ ต้องประสบอุปสรรค จากการสร้างประตูน้ำกั้นคลองประเวศหลายประตู โดยมีเจตนาเพื่อควบคุมระดับน้ำไม่ให้ไหลตรงสู่เจ้าพระยา ผ่านคลองพระโขนง แล้วไป“สูบขึ้น” แม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำพระโขนง ที่มีเครื่องสูบน้ำยักษ์ 51 เครื่อง

คลองประเวศฯ จึงเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ใช้ในการระบายน้ำฝั่งกรุงเทพตะวันออก

น้ำท่วมกรุงเทพฯจะแก้ไม่ถูกจุด ถ้าไม่เข้าใจก่อนว่า แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่สูงที่สุด สูงกว่าถนนสุขุมวิทร่วม 2 เมตร สูงกว่าระดับคลองแสนแสบ คลองประเวศฯ และคลองสูงกว่าถนน ถนนสูงกว่าซอย กรุงเทพจึงเป็น “เมืองปั๊ม” เพราะต้องสูบน้ำฝืนธรรมชาติ จากซอยสูบขึ้นถนน ถนนสูบขึ้นคลอง และคลองสูบขึ้นเจ้าพระยา ก่อนไหลลงอ่าวไทย

“ลาดกระบัง” และกรุงเทพฝั่งตะวันออก มีการพัฒนาต่อเนื่อง จากพื้นที่การเกษตร กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่บ้านจัดสรร คอนโด ห้างสรรพสินค้า พื้นที่แอ่งรับน้ำ “แก้มลิง” หาได้น้อยลง

ทางรอด ทางแก้ปัญหาทางเดียวของลาดกระบัง คือ การระบายน้ำสู่ “เส้นเลือดใหญ่” คลองประเวศฯ เพื่อไปให้ถึงพระโขนง สูบขึ้นไประบายบนแม่น้ำเจ้าพระยา หรือสูบระบายไปทางตะวันออก ผ่านคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต

แต่น่าเสียใจ “เส้นเลือดใหญ่อุดตัน” ถูกบีบไม่ให้น้ำไหลผ่าน “ประตูน้ำ” ที่แทบไม่เปิดให้น้ำจากคลองประเวศฯ ที่จะรับน้ำลาดกระบัง ได้มีโอกาสไปถึงพระโขนงลาดกระบังจึงจมน้ำ ทุกข์ระทม

ผมสันนิษฐานว่ามีปัญหา ที่ยังรอแก้ไขเร่งด่วน ดังนี้

1. มีความสงสัยว่า เครื่องสูบน้ำยักษ์ 51 เครื่อง ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง ใช้งานได้จริงอยู่กี่เครื่อง? หรือ สูบน้ำไม่ได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่? ทำให้ประตูน้ำคลองประเวศฯ ก็ไม่กล้าปล่อยน้ำไปถึงสถานีสูบ กรุงเทพตะวันออกจึงจมน้ำต่อไป หากให้เครื่องสูบน้ำทั้ง 51 เครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จะช่วยการระบายน้ำคลองประเวศฯได้ทันที

2. จุดเชื่อมต่อคลองประเวศฯ กับคลองพระโขนง คดเคี้ยว และจากประสบการณ์ที่เคยนั่งเรือลงพื้นที่ พบว่าตลิ่งแถวนั้น กทม.ยังซ่อมไม่เรียบร้อย กลายเป็นฟันหลอ จุดเปราะบาง หากมีน้ำระบายมาทางนี้ ก็กลัวจะทะลัก ผมขอแนะนำให้รีบซ่อมตลิ่งให้เรียบร้อย งานไม่มาก ทำได้เร็ว จะทำให้น้ำไหลสะดวก ไปถึงสถานีสูบน้ำพระโขนงได้ โดยปลอดภัยกับชาวบ้านเขตชั้นใน

3. คลองประเวศฯฝั่งตะวันออก แถวถนนลาดกระบัง-หลวงแพ่ง เชื่อมต่อกับ “คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต” คลองนี้จะไหลลงไปสู่อ่าวไทยฝั่งคลองด่าน สมุทรปราการ กทม. ควรประสานงานให้คลองพระองค์เจ้า สูบแบ่งเบาภาระของคลองประเวศฯ ส่งไปอีกทาง ทำให้พร่องน้ำคลองประเวศฯ ได้น้ำท่วมลาดกระบังจะได้สูบระบายได้ เพราะตอนนี้คลองประเวศฯล้นแล้ว น้ำท่วมลาดกระบังไม่มีทางไป

4. ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาซับซ้อน ควรใช้เทคโนโลยีช่วยในการตัดสินใจ บัญชาการ หรืออำนวยการอัตโนมัติ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ การไม่มีระบบเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำอย่างละเอียด ในพื้นที่ลาดกระบัง และกรุงเทพตะวันออก ทำให้อาจไม่รู้ระดับการเปิดประตูน้ำ ตามสถานการณ์จริง แนะนำให้รีบติดตั้งด่วน ทำได้ทันที หากดำเนินการตามวิธีการ 4 ข้อนี้ จะพอช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้

ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ ผมออกนอกบ้านลาดกระบังไม่ได้น้ำท่วมสูงมาก จึงหวังว่าคำแนะนำในฐานะชาวบ้านคนกรุงเทพฯผู้ประสบภัย และวิศวกรธรณีเทคนิคคนหนึ่ง ที่พอจะมีความรู้และประสบการณ์ จะพอช่วยกันได้บ้างครับ

สรุป : ชัชชาติเป็นคนที่วางท่าทีรับฟังและโน้มเข้าหามากกว่าปะทะ และเข้าจัดการพื้นที่ตามที่ทั้งสองท่านนี้แนะนำบ้างแล้ว ขอให้ กทม. อยู่รอดปลอดภัย เพราะนั่นคือเดิมพันใหญ่ของผู้ว่า 1.3 ล้านคะแนน และเป็นผลกระทบต่อการเลือกตั้งใหญ่ของ “พรรคเพื่อไทย” ในกทม. ด้วย !!