ต้านไม่ไหว!ผลการทดลองเบื้องต้น ‘สายพันธุ์เดลต้า’ หนีภูมิ ‘Sinovac’ 2เข็ม

‘สายพันธุ์เดลต้า’ ดูจะเป็น ‘สายพันธุ์โควิด 19’ ที่มีความน่ากลัวเป็นอันดับหนึ่งในขณะนี้ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่สามารถหนีภูมิคุ้มกันจาก ‘วัคซีนโควิด 19’ อย่าง ‘Sinovac’ ได้

ล่าสุด ดร.สุมยา สวามีนาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ องค์การอนามัยโลก ‘WHO’ แถลงว่า โควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลต้า’ กำลังกลายเป็นสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่พบมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆทั่วโลก เนื่องจากเดลต้ามีความสามารถในการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ผลกระทบของสายพันธุ์เดลต้า’ ต่อประสิทธิผลของวัคซีนต้านโควิดที่มีอยู่นั้น ทาง ‘WHO’ ยังต้องการข้อมูลที่มากกว่านี้ จึงจะสามารถสรุปได้ว่าสายพันธุ์เดลต้า จะลดประสิทธิภาพของวัคซีนหรือไม่

  • สาธารณสุขทั่วโลกเชื่อ สายพันธุ์เดลต้าระบาดทั่วโลก

ขณะเดียวกัน สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ หรือ เพ ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ข้อมูลล่าสุดพบว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วอังกฤษเกือบทั้งหมดเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า’  โดยสายพันธุ์เดลต้า’ มีสัดส่วนถึง 99% ของผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ทั่วทั้งอังกฤษ

ตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า’ เพิ่มขึ้น 33,630 คนในสัปดาห์ที่แล้ว เชื่อว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า’ ในครัวเรือนในสหราชอาณาจักรได้แซงหน้า สายพันธุ์อัลฟ่า หรือ สายพันธุ์อังกฤษหรือโควิดกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอังกฤษ ที่เคยเป็นสายพันธุ์ที่ยึดครองสหราชอาณาจักรมาก่อน โดยพบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า’ ในครัวเรือนของสหราชอาณาจักร มากกว่สายพันธุ์อัลฟ่า ถึง 65%

นอกจากนี้ พบว่า สายพันธุ์เดลต้า’ ระบาดเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนที่อายุน้อยลง ซึ่งเป็นกลุ่มหลังๆที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยหรือเพิ่งฉีดไปเพียงเข็มแรก

  • ‘แอสตร้าเซเนก้า’และ ‘ไฟเซอร์’ป้องกัน สายพันธุ์เดลต้า

ส่วนผลกระทบขอสายพันธุ์เดลต้า’ ต่อประสิทธิผลของวัคซีน ข้อมูลใหม่ล่าสุดที่ PHE เปิดเผยเมื่อวันที่14 มิถุนายน พบว่า วัคซีนของ ‘แอสตร้าเซเนก้า’ มีประสิทธิภาพ 92% ในการช่วยลดความรุนแรงของสายพันธุ์เดลต้า’  และทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลหลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ส่วนวัคซีนของ ‘ไฟเซอร์’ มีประสิทธิภาพ 96% ในการช่วยป้องกันไม่ให้อาการทรุดจนต้องเข้าโรงพยาบาลหลังฉีดครบโดส

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในสหราชอาณาจักร เตือนประชาชนยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ถึงแม้ว่าได้รับวัคซีนครบแล้วก็ตาม

ด้านเยอรมนี โลธาร์ วีลเลอร์ ประธานสถาบันโรเบิร์ต โคชในเยอรมนี ออกมาเตือนในวันเดียวกันว่า แม้ว่าสายพันธุ์เดลต้า’ มีสัดส่วนเพียง 6% สำหรับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ แต่การระบาดของสายพันธุ์เดลต้า’ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากจนต้องรีบตื่นตัวระวัง แต่ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่เดลต้าจะกลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากกว่าหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีน และการบริหารจัดการการผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิด

อย่างไรก็ตาม อัตราการติดเชื้อโควิดในเยอรมนีในรอบ 7 วัน ลดลงเหลือ 10.3 คนต่อประชากร 100,000 คนเมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) จากเดิม 12 คนต่อประชากร 100,000 คน และลดลงจากช่วง 7 วันก่อนหน้านั้น ซึ่งอยู่ที่ 19 คนต่อประชากร 100,000 คน ทำให้ เยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมนี หวังว่า หากอัตราการติดเชื้อโควิดยังลดลงเช่นนี้ต่อไป ฤดูร้อนในเยอรมนีปีนี้ สถานการณ์โควิดคงอยู่ในเกณฑ์ที่

  • ทำความเข้าใจ ‘ไวรัสกลายพันธุ์’ หนีภูมิคุ้มกันวัคซีนได้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก “Yong Poovorawan” ระบุ เกี่ยวกับ วัคซีนโควิด -19 กับการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ ว่าตามวิวัฒนาการของไวรัส ไวรัสจากมีการกลายพันธุ์ เพื่อหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา โดยจะเห็นว่า มีการกลายพันธุ์ตั้งแต่ Alpha Beta Gamma Delta หรือแต่เดิมที่เราเรียกว่า‘สายพันธุ์อังกฤษ’ (อัลฟ่า) ‘สายพันธุ์แอฟริกาใต้’ (เบต้า) ‘สายพันธุ์อินเดีย’ (Delta) วัคซีนส่วนใหญ่ทั้งหมดจะพัฒนาจากสายพันธุ์เดิมคือสายพันธุ์อู่ฮั่น

‘สายพันธุ์อังกฤษ’ยังไม่หลบหลีกประสิทธิภาพของวัคซีนมากนัก

‘สายพันธุ์แอฟริกาใต้’ หลบหลีกได้มากแต่ขณะเดียวกันอำนาจการกระจายโรคได้น้อยกว่า

‘สายพันธุ์เดลต้า’ หรืออินเดีย มีอํานาจการกระจายสูง และหลบหลีกภูมิต้านทานได้แต่น้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ การมีอำนาจการกระจายสูงสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ และระบาดทั่วโลก จากเดิมเป็น‘สายพันธุ์อังกฤษ’

ในทำนองเดียวกันในประเทศไทยแต่เดิมเป็นสายพันธุ์ G และก็โดน‘สายพันธุ์อังกฤษ’ (Alpha) ระบาดเข้ามา เกิดระบาดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็น‘สายพันธุ์อังกฤษ’

ขณะนี้เริ่มมี‘สายพันธุ์เดลต้า’ เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เข้ามาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษในประเทศไทยอย่างแน่นอน

  • ระบุวัคซีนเข็ม 2 ‘AstraZeneca’ป้องกัน’สายพันธุ์เดลต้า’

ศ.นพ.ยง อธิบายต่อว่า ‘สายพันธุ์เดลต้า’ ต้องการระดับภูมิต้านทานของวัคซีนที่สูง ในการป้องกัน เราจะเห็นการศึกษาในสกอตแลนด์ ถ้าเปรียบเทียบวัคซีน ที่เปรียบเทียบระหว่าง วัคซีน ‘ไฟเซอร์’ ที่ให้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่า วัคซีน ‘แอสตร้าเซเนก้า’ ปรากฏว่าลดลงทั้ง 2 ตัว แต่วัคซีนที่ให้ภูมิต้านทานสูงลดลงน้อยกว่า

การป้องกันโรคเมื่อให้วัคซีนครบ 2 เข็ม หลัง 14 วัน ต่อ‘สายพันธุ์เดลต้า’ วัคซีน ‘ไฟเซอร์’ ป้องกันได้ร้อยละ 79 วัคซีน ‘แอสตร้าเซเนก้า’ ป้องกันโรคได้ร้อยละ 60 แต่ถ้าเป็น‘สายพันธุ์อังกฤษ’การป้องกันโรคจะอยู่ที่ร้อยละ 92 กับ 73 แต่ถ้าให้วัคซีนเข็มเดียวเปรียบเทียบกัน หลัง 28 วันไปแล้วการป้องกันของวัคซีน ‘ไฟเซอร์’ จะอยู่ที่ร้อยละ 30 แต่ของ ‘แอสตร้าเซเนก้า’จะอยู่ที่ร้อยละ 18  โรงพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน

แสดงให้เห็นว่าการป้องกันโรค‘สายพันธุ์เดลต้า’ หรืออินเดียจำเป็นที่จะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าสายพันธุ์แอลฟาหรืออังกฤษ
จากข้อมูลดังกล่าวถ้ามาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ขณะนี้ของเราส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อังกฤษ แต่ก็คงจะหนีไม่พ้นในอนาคตที่จะมีสายพันธุ์อินเดียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะมาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตามวิวัฒนาการของไวรัส

การให้วัคซีนเข็ม 2 เข้ามาเร็วขึ้น ของ ‘แอสตร้าเซเนก้า’ จะมีประโยชน์ในการป้องกัน‘สายพันธุ์เดลต้า’ ถ้ามีการระบาดของสายพันธุ์นี้เกิดขึ้น และมีแนวโน้มการป้องกันจะลดลง แต่ก็ยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

และในทำนองเดียวกันวัคซีน ที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้น้อยกว่า ก็คงจะต้องใช้การกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ระดับภูมิต้านทานสูงขึ้น เพื่อป้องกันสายพันธุ์เดลต้า จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนใหม่ให้ตรงกับสายพันธุ์ ที่มีการระบาด

เช่นเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี และในการเปลี่ยนแปลงของวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ ในบางปีการคาดการณ์ก็ไม่ถูกเช่นเดียวกัน แต่ละปีวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน

ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังดูสายพันธุ์ที่ระบาดอย่างต่อเนื่องว่าเป็นสายพันธุ์อะไร และป้องกันไม่ให้สายพันธุ์เดลต้าระบาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพื่อรอจำนวนวัคซีนที่จะมา และหรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงชนิดของวัคซีนในอนาคต ให้ตรงและจำเพาะกับสายพันธุ์

  • ผลการทดลองในไทย ‘สายพันธุ์เดลต้า’ หนีภูมิ‘Sinovac’

ขณะที่ในประเทศไทยนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสในเฟสบุ๊คส่วนตัว อนันต์ จงแก้ววัฒนา ว่าผลการทดลองที่ตนได้ศึกษาโดยใช้ตัวอย่างซีรั่มของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน ‘โคโรนาแวค’ ของ บริษัท ‘ซิโนวัค’ ครบ 2 เข็มเป็นเวลา 1 เดือน

โดยใช้ตัวอย่างในการศึกษาจำนวน 23 ตัวอย่าง เปรียบเทียบความสามารถของซีรั่มจำนวนดังกล่าวในการยับยั้งไวรัสตัวแทนที่สร้างให้มีการแสดงออกของโปรตีนสไปค์ของไวรัส โควิด 19′ สายพันธุ์ดั้งเดิม (Wuhan) และสายพันธุ์ B.1.617.2 (Delta)

ด้วยวิธีมาตรฐานเรียกว่า Pseudovirus Neutralization assay คือ การตรวจปริมาณแอนติบอดีชนิด NAb ที่สามารถยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสตัวแทนดังกล่าว

ค่าที่อ่านได้ (แกนตั้ง) PVNT50 คือ ค่าที่สามารถเจือจางซีรั่มไปจนสามารถยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ 50% เช่น 100 จะหมายถึง ซีรั่มเจือจางไป 1 ใน 100 ยังสามารถยับยั้งได้อยู่ถ้ามากกว่านั้นจะยับยั้งไวรัสเข้าเซลล์ได้ไม่ถึง 50%

ขณะที่ 10 จะหมายถึง ซีรั่มเจือจางไปเกิน 1 ใน 10 ก็ไม่สามารถยับยั้งไวรัสได้ 50% แล้ว

สรุปแบบง่ายๆก็คือ ค่ายิ่งสูงแสดงว่าแอนติบอดีชนิด Nab ที่ยับยั้งไวรัสได้จะยิ่งเยอะ

162417437669

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ค้นหาคำตอบ ‘วัคซีนโควิด’ชนิดไหน? ป้องกัน’สายพันธุ์เดลต้า’ ได้

รู้จัก ‘แลมบ์ด้า’ เชื้อ ‘โควิดกลายพันธุ์’ ชนิดใหม่ ที่ WHO ให้ความสนใจ

CDC เตือน ‘เดลตา’ ระบาดสายพันธุ์หลักในสหรัฐ

  • หวังข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ข่าวดีสำหรับคนไทย

เมื่อนำซีรั่มมาทดสอบกับไวรัสตัวแทนที่มีสไปค์ของสายพันธุ์ดั้งเดิม จะเห็นว่า ซีรั่มส่วนใหญ่ยังสามารถยับยั้งไวรัสได้พอสมควร ถึงแม้ไม่สูงมากแต่ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ตีพิมพ์มา

แต่เมื่อทดสอบกับไวรัส สายพันธุ์เดลต้า จะเห็นว่าระดับของ NAb ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีหลายตัวอย่างที่ไม่สามารถตรวจวัด NAb ได้  ซึ่งบอกว่าสไปค์ของสายพันธุ์เดลต้า สามารถหนีภูมิของ ‘ซิโนวัค’ 2 เข็มได้มากพอสมควรเลยทีเดียว

ดร.อนันต์ กล่าวต่อว่าลงค่า Convalescent ซึ่งเป็นซีรั่มของผู้ป่วยหนักที่พบว่าส่วนใหญ่มี Nab ที่สูงพอในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ทุกชนิดเปรียบเทียบให้ดูด้วย จะเห็นว่าระดับ Nab แตกต่างกันชัดเจน

ข้อมูลนี้เป็น Data ที่ได้จากแล็บตนซึ่งใช้ตัวอย่างอาจจะไม่มาก ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนได้ จึงอยากให้ห้องแล็บอื่นๆที่มีตัวอย่างซีรั่มเยอะๆลองทดสอบดูเช่นเดียวกัน เพราะข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้…ใจลึกๆผมหวังว่าข้อมูลนี้จะไม่ถูกต้อง เพราะ ไม่ใช่ข่าวดีเท่าไหร่ถ้าผลออกมาแบบนี้จริงๆ

  • เปิดการกลายพันธุ์โควิด 2สายพันธุ์ในเซลล์เดียว

ดร.อนันต์ กล่าวต่อไปว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดของไวรัสตอนเพิ่มจำนวนตัวเอง ทำให้รหัสพันธุกรรมเปลี่ยนแปลง ถอดรหัสเป็นกรดอะมิโนตัวใหม่ เช่น E484K, N501Y, L452R ที่เห็นกันในสายพันธุ์ต่างๆ บางทีก็จะเกิดการขาดหายไปของกรดอะมิโนขึ้นในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกการเกิดความหลากหลายของไวรัสที่เราพบบ่อยครับ

แต่อีกกลไกหนึ่งที่เราพบไม่บ่อย และมักไม่มีคนแสดงให้เห็นชัด คือ การที่ไวรัส 2 สายพันธุ์ไปติดอยู่ในเซลล์เดียวกันในโฮสต์ แล้วจังหวะนั้น สาย RNA ของไวรัส 2 ชนิด สามารถแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนกันได้ ทำให้เกิดเป็นไวรัสลูกผสมที่มีบางส่วนของยีนเป็นไวรัสสายพันธุ์หนึ่ง

ส่วนอีกส่วนเป็นของอีกสายพันธุ์หนึ่ง เรียกกลไกนี้ว่า Recombination ลักษณะแบบนี้จะทำให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากกลไกอื่นๆได้ไวกว่าปกติ เพราะไวรัสไม่ต้องใช้เวลาเปลี่ยนทีละตำแหน่งเหมือนกลไกแรก

ทีมวิจัยที่ UK ทำการถอดรหัสของไวรัสที่นั่นจำนวนมาก และ ได้ศึกษารหัสดังกล่าวเชิงลึกพบว่า มันมีสายพันธุ์ที่คล้ายๆกับแอลฟ่าที่ไปรับเอาชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมมาจากสายพันธุ์อื่นๆที่ระบาดอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ในเวลาใกล้ๆกันมาด้วย ยกตัวอย่างในภาพจะเห็นว่า ไวรัส Group A มีส่วนด้านหน้าเป็นสายพันธุ์ B.1.1.177 ส่วนด้านหลังเป็น B.1.1.7 คือ แอลฟ่า จะเห็นว่ามีไวรัสอยู่หลายกลุ่มที่สลับแลกเปลี่ยนกันเองได้

แต่แลกแล้วจะมีความหมายอะไรยังเป็นประเด็น เพราะ ถ้าเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของไวรัสใหม่ก็คงปล่อยเป็นกลไกของธรรมชาติไป ในการศึกษานี้มีอยู่เคสนึงครับที่บอกว่า มีลูกผสมอยู่ตัวนึง คือ Group A ที่สามารถแพร่กระจายต่อเป็นคลัสเตอร์ได้อย่างน้อย 45 คน ที่ตรวจพบในช่วงเวลา 9 สัปดาห์ที่เก็บข้อมูล ซึ่งกลไกนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ไวรัสสามารถใช้สร้างความหลากหลายได้ครับ

ที่มา https://www.medrxiv.org/con…/10.1101/2021.06.18.21258689v1

  • ซีรั่มของคนอินเดียต่อภูมิคุ้มกันระหว่างในเมืองกับชนบท

ตัวเลขนี้ของอินเดียน่าสนใจครับ เป็นการสุ่มเก็บตัวอย่างซีรั่มของคนอินเดียที่อาศัยในเมือง และ ชนบท แล้วหาภูมิต่อไวรัสโรคโควิด-19 จากตัวอย่าง ประมาณ 1000 คนในเมือง พบ คนที่มีแอนติบอดีต่อไวรัสโควิดมากถึง 79.1% และ จาก 3000+ คนในชนบท พบได้ 62.2% ทั้งนี้อาจจะไม่รวมกลุ่มที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการและตรวจภูมิไม่ขึ้นได้อีกจำนวนหนึ่ง ข้อมูลของประชากรที่อายุน้อยกว่า 18 ปี น่าสนใจเหมือนกันคือ % ไม่ได้น้อยกว่ากลุ่มผู้ใหญ่เลย โดยเฉพาะในเมือง

ประชากรของอินเดียเป็นระดับพันล้าน ถ้าตัวเลขนี้อนุมานได้ไกลถึงระดับประเทศจริงๆ ผู้ป่วยโควิดของอินเดียน่าจะมากกว่าใครๆในโลกนี้ไปแล้วครับ ดูใกล้ๆจะเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ที่บางประเทศก่อนหน้านี้อยากไปให้ถึงด้วยวิธีนี้ครับ อาจสามารถอธิบายตัวเลขของอินเดียกำลังลงเรื่อยๆเมื่อเทียบกับเดือนก่อน วันนี้ที่ 60000+ เคส ลงจาก 400000+ เมื่อเดือนที่แล้ว

ที่มา https://www.medrxiv.org/con…/10.1101/2021.06.15.21258880v1