มิถุนายน 30, 2025

คนกรุงเทพ

ข่าวกรุงเทพ

มรสุมนายกฯ ฉุดเชื่อมั่นดิ่ง ประชาชนเรียกร้อง ‘แนวทางใหม่’ แก้ปัญหาชาติ

หลังจากที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร แพทองธาร เผชิญปัญหาทั้งวิกฤติเศรษฐกิจจากผลกระทบสงครามการค้า รวมถึงวิกฤติสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา และเสถียรภาพการเมืองหลังจากที่พรรคภูมิใจไทยถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 2-2568” สำรวจระหว่างวันที่ 19-25 มิ.ย.2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวม 2,500 หน่วยตัวอย่าง จากการสำรวจเมื่อถามบุคคลที่ประชาชนสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีวันนี้ พบว่า

1.นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (พรรคประชาชน) 31.48% เพราะเป็นคนรุ่นใหม่กล้าแสดงออก มีแนวคิดที่ชัดเจนและทันสมัย อีกทั้งยังแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา

2.ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 19.88%

3.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 12.72% เพราะเป็นบุคคลที่พูดจริงทำจริง ตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ

4.นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) 9.64% เพราะมีความกล้าตัดสินใจ และมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศ

5.นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) 9.20% เพราะมีความตั้งใจในการทำงาน แม้จะมีข้อจำกัดด้านประสบการณ์ และต้องการเปิดโอกาสให้ได้แสดงศักยภาพในการบริหารประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการสำรวจช่วงที่ผ่านมา พบว่า คะแนนนิยม น.ส.แพทองธาร ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 1 ปี 2568 ที่มีคะแนนสูงถึง 30.90% เป็นอันดับ 1

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า เสียงสะท้อนเรื่องคะแนนิยมที่ลดลงของนายกฯ และรัฐบาล กำลังบอกว่า ประชาชนต้องการแนวทางใหม่ในการแก้ไข ต้องทำให้ดีกว่านี้หรืออาจจะถึงต้องการการเลือกตั้งเพื่อหาข้อเสนอใหม่

“ในด้านความนิยมที่ลดลงของนายกรัฐมนตรี เป็นปัจจัยเร่งที่สะท้อนปัญหาความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ต่อผลงานที่ผ่านมา”

สำหรับการปรับ ครม.ของ รัฐบาลแพทองธาร และสถานการณ์การเมืองขณะนี้ รัฐบาลเผชิญปัญหาสำคัญ คือ เสียงปริ่มน้ำทำให้ต้องเอาใจพรรคการเมืองเล็กจำนวนมาก จนทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปได้ยากและเป็นปัญหาหลัก

ส่วนการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของไทยตอนนี้ ประเทศไทยจะมีโจทย์สำคัญ คือ แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่ค้างมานาน ตั้งแต่การปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งการยกระดับฝีมือการทำงาน การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ไปจนถึงปัญหาเร่งด่วน คือ การเจรจาต่อรองเพื่อลดภาษีกับสหรัฐ

“ทั้งหมดนี้จะทำได้มีประสิทธิภาพ รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ เพื่อให้การทำงานต่อเนื่องและบูรณาการข้ามกระทรวงให้เกิดผลงาน รวมทั้งต้องมีรัฐบาลตามวิถีแห่งประชาธิปไตย ที่ตรวจสอบความฉ้อฉลได้ และเป็นรูปแบบที่ต่างชาติยอมรับให้เจรจาการค้าการลงทุน และต้องได้รับการสนับสนุนจากคนในประเทศส่วนใหญ่ ได้รับความเชื่อมั่น ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน”

นอกจากนั้น รัฐบาลต้องสามารถรักษาสมดุลระหว่างความมั่นคง และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาด้านความมั่นคงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่กระทบด้านเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด

มรสุมนายกฯ ฉุดเชื่อมั่นดิ่ง ประชาชนเรียกร้อง \'แนวทางใหม่’ แก้ปัญหาชาติ

“รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่เผชิญมรสุมทางการเมืองทั้งจากพรรคร่วม และจากกลไกตรวจสอบฝ่ายค้านและองค์กรอิสระ แถมเผชิญความเสี่ยงด้านความมั่นคง และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ยิ่งทำให้การตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจยิ่งเป็นไปได้ยากมาก”

คะแนนนิยมดิ่งสะท้อนอารมณ์ประชาชน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า คะแนนนิยมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากผลสำรวจ นิด้าโพล สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกประชาชนต่อสถานการณ์ที่รุมเร้าทุกด้านขณะนี้

ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าว ถือว่าสะท้อนอารมณ์สังคมช่วงเวลาตามสถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่แปลกใจที่คะแนนนิยมลดลงมาอันดับ 5 และมีบุคคลอื่นแซงหน้าขึ้นไปนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากสถานการณ์ที่รุมเร้า ทั้งข่าวภายนอกและภายในประเทศ รวมถึงประเด็นที่นำไปสู่การต่อต้านและสนับสนุนจำนวนมาก

“ผลสำรวจนิด้าโพลเป็นเพียงการสำรวจ ณ วันและเวลานั้น สะท้อนความรู้สึกประชาชนที่ได้รับข่าวสารต่างๆ จำนวนมากในขณะนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้

ห่วงเสถียรภาพการเมืองลดแต้มต่อเจรจา

นายเกรียงไกร กล่าวว่า สิ่งที่ ส.อ.ท.กังวลมากกว่า คือ สถานการณ์ที่ไทยกำลังเผชิญจากศึกภายนอกหลายเรื่องในช่วงที่เศรษฐกิจภายในไม่เข้มแข็ง และมีปัญหาการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งนำไปสู่บรรยากาศไม่ดีในประเทศ โดยเฉพาะการ กลับมาชุมนุมประท้วงที่เงียบไปนาน

“การเดินขบวนที่ก่อให้เกิดม็อบไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดี สิ่งนี้จะส่งผลโดยตรงต่อแต้มต่อรอง ในการเจรจากับต่างประเทศ สัปดาห์หน้ารัฐบาลจะไปเจรจาภาษีศุลกากรตอบโต้กับสหรัฐ นำโดยรองนายกรัฐมนตรีและทีมกระทรวงพาณิชย์ อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน หากมีข่าวนี้ออกไป สหรัฐอาจลดน้ำหนักและความน่าเชื่อถือไทย จากการลดเครดิตตัวเองด้วยภาพลักษณ์ประเทศ”

นอกจากนี้ จากภาพลักษณ์ประเทศขณะนี้ อาจเข้าทางผู้นำกัมพูชาที่อาจมองว่า เข้าล็อกทันทีที่ทำให้ไทยอ่อนแอด้วยคนไทยเอง โดยที่ไม่ต้องทำอะไรทั้งที่ไทยเป็นประเทศที่ได้เปรียบ และเหนือกว่าทุกด้าน แต่กลับกลายเป็นอ่อนแอทันที

ต้องมีสติ แก้ปัญหาต้นเหตุ

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ขอให้ทุกคนมีสติว่าสิ่งที่เราทำจะส่งผลทุกอย่างและเรียกร้องให้ทุกคนกลับไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การเมือง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ต้องเร่งแก้ให้ถูกต้อง ที่สำคัญระหว่างแก้ต้องใช้เวลาด้วยโครงสร้างการเมืองไทยที่ถูกออกแบบมาผิดและฝืนธรรมชาติ ฝืนความเป็นจริง ส่งผลทำให้บิดเบี้ยว และต้องทะเลาะกันไม่รู้จบ

“ฝากให้ทุกคนมีสติ คิดอย่างมีเหตุผล ดูสิ่งที่เราจะทำว่า แสดงออกที่ถูกจังหวะหรือไม่ โดยเฉพาะเวลาที่ไทยกำลังเผชิญศึกภายนอก การแสดงความอ่อนแอภายในประเทศไม่ใช่เรื่องดี รวมถึงความกังวลต่อการท่องเที่ยวที่อาจได้รับผลกระทบจากภาพลักษณ์การชุมนุมที่กลับมาอีก และจากข่าวเรื่องความกังวลความปลอดภัยบวกเรื่องม็อบก็อาจจะยิ่งลดลง”

การเมืองไร้เสถียรภาพฉุดลงทุน

นายเกรียงไกร ตอบคำถามประเด็นการปรับ ครม.ว่า ภาคเอกชนต้องการการเมืองที่มีความนิ่งและต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ไม่นิ่งและไม่ต่อเนื่อง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาการค้าหรือการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญจะทำให้เสียเวลาเริ่มต้นที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ แม้ว่าบุคคลใหม่จะมีความสามารถเท่าเทียมกันก็ตาม

นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติคิดเหมือนนักลงทุนไทยที่ต้องการเสถียรภาพ และการทำงานต่อเนื่อง เมื่อหารือกับภาคนโยบายช่วงโรดโชว์แล้วมีการเปลี่ยนแปลงใหม่อาจต้องชะลอการตัดสินใจ และรอแทนดูความชัดเจนว่าอาจต้องเปลี่ยนอีกหรือไม่ ดังนั้น การเมืองที่ไร้เสถียรภาพในปัจจุบันเป็นความเสี่ยงที่ภาคเอกชนกังวลตลอด

ทั้งนี้ ส.อ.ท.อยากฝากถึงทุกคนว่าต้องช่วยกันทำให้พ้นวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องคนทั้งประเทศไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ภาคเอกชนไม่ได้ต้องการต่อว่าใคร แต่อยาก “เตือนสติ” ทุกฝ่ายอย่าแค่เอาความรู้สึกและจุดยืนการเมืองที่แตกต่างมาแสดงออกโดยให้มองภาพใหญ่ของประเทศ ความวุ่นวายทางการเมืองจะกระทบภาพลักษณ์ประเทศ ท้ายสุดกระทบเศรษฐกิจและประชาชน

ภาคเอกชนงงปรับ ครม.เพื่อใคร

แหล่งข่าวจากภาคเอกชน กล่าวว่า ภาพรวม ครม.ใหม่ไม่แตกต่างไม่มีความหวัง จึงมีคำถามว่า ปรับเพื่อใคร ปรับเพื่ออะไร เช่น กระทรวงพาณิชย์ที่มีรัฐมนตรีใหม่มาบริหารแต่ประเทศกำลังเจอปัญหาเศรษฐกิจรอบด้าน ส่วนด้านการเจรจาระหว่างประเทศดูภาพรวมแล้วไม่สร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศและภาคเอกชนเลย

“ภาคเอกชนเป็นห่วงว่าจะขับเคลื่อนประเทศได้อย่างไรในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่ โดยช่วงนี้ประเทศต้องการมืออาชีพมาบริหารประเทศ”

ส่วนการเจรจาสหรัฐแม้ว่านายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะโดนปรับออก แต่ยังมีนายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าทีมเจรจาอยู่ ก็เชื่อว่าจะเดินหน้าการเจรจาได้

ทั้งนี้ มองว่า ช่วงวันที่ 1-3 ก.ค.2568 ถือเป็นไทม์ไลน์สำคัญทางการเมือง ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะนายกฯ จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

หวัง ครม.เศรษฐกิจรับมือวิกฤติได้

นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีคงพิจารณาแล้วถึงการปรับ ครม.ครั้งนี้ แต่ภาพรวม ครม.ที่เข้ามาใหม่ ภาคเอกชนอยากได้ ครม.ที่คุมสายเศรษฐกิจเป็นผู้บริหารภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ ที่มีความรู้ความสามารถดึงมาเป็นรัฐมนตรี เพราะยังหวังว่าเศรษฐกิจยังขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งแต่ละส่วนต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถกำหนดทิศทางแต่ละกระทรวง

ดังนั้น จึงเป็นภารกิจนายกฯ จะนำคนเก่งคนมีความสามารถมานั่งเป็นรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ทิศทางประเทศภาพลักษณ์ การยอมรับจากต่างประเทศไม่ชัดเจน และต่างชาติไม่แน่ใจว่าจะต้องหารือใคร จึงให้กำหนดบทบาทว่าใครควรนั่งทำงานช่วงวิกฤติสงครามการค้า

“รัฐบาลต้องเร่งโครงสร้างพื้นฐานประเทศ อะไรไม่จำเป็นเร่งด่วนก็รอไป รัฐบาลควรนำทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการกับภาคเศรษฐกิจให้ประเทศเดินหน้า การผลิตเติบโต การส่งออกดี”