ศาลปกครอง เตือน กทม.เร่งถอนใบอนุญาตแอชตันอโศกตามคำสั่งศาล ก่อนลุ้นอีกคดีที่สยามสมาคมฟ้อง


ศาลปกครอง เตือน กทม.เร่งสางปัญหาคดีถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดแอชตัน-อโศก ก่อนลุ้นอีกคดีที่สยามสมาคมฟ้องให้ กทม.บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง ชี้ ให้รื้อเฉพาะส่วนที่ไม่ชอบตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่สำนักงานศาลปกครอง นายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในชั้นปกครองสูงสุด ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงกรณีปัญหาการบังคับคดีแอชตัน-อโศก ที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ว่า คดีนี้ศาลสั่งให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างตึกแอชตัน-อโศก เนื่องจากเห็นว่าเป็นการออกใบอนุญาตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การบังคับคดี เป็นเรื่องที่ กทม.จะต้องไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ศาลไม่ได้สั่งว่าจะต้องรื้อ หรือจะบังคับคดีเป็นอื่นใด

อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีคอนโดแอชตัน-อโศก อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดอีก 1 คดี เป็นคดีที่สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมป์ ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม. และผู้อำนวยการเขตวัฒนา ในกรณีที่ออกใบอนุญาตให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างโครงการอาคารคอนโดมิเนียม แอชตัน -อโศก ถ.สุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) เขตวัฒนา กทม.โดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  คดีนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2565 ว่า ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหรือ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา ใช้อำนาจ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี ดำเนินการกับบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างโครงการอาคารคอนโดมิเนียม แอชตัน-อโศก ถ.สุขุมวิท21 (อโศกมนตรี) เขตวัฒนา กทม. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับกรณีที่ต้องใช้อำนาจทางกฎหมายในการออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน-อโศก ดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการเฉพาะแต่ส่วนของอาคารที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ เฉพาะในส่วนของอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างถนนให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ผู้อำนวยการเขตวัฒนา บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารพิพาทกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

นายประวิตร ยังกล่าวถึงกรณีอาคารดิเอทัส ซ.ร่วมฤดี ว่า ความคืบหน้าล่าสุด สำนักงานเขตปทุมวัน ได้รายงานความคืบหน้าต่อศาลปกครอง ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรื้อถอนตามคำพิพากษา แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาที่ทางบริษัทเจ้าของตึกไม่ยอมให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ไปดำเนินการรื้อถอน.