“เชื้อเพลิงฟอสซิล” คืออะไร เป็นตัวการวิกฤติ “ภาวะโลกร้อน” จริงหรือ?

ท่ามกลางกระแส #LetTheEarthBreath ที่มีผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษยุติโครงการ “เชื้อเพลิงฟอสซิล” แห่งใหม่ จนกลายเป็นกระแสร้อนแรงในโลกโซเชียล โดยแฮชแท็กดังกล่าวติดเทรนด์ทวิตเตอร์​ไทยเป็นอันดับ 1 เมื่อวานนี้ และทำให้ประเด็น “ภาวะโลกร้อน” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง

บางคนอาจจะสงสัยว่า “เชื้อเพลิงฟอสซิล” มาเกี่ยวข้องกับปัญหา “โลกร้อน” ได้อย่างไร? ทำไมชาวเน็ตทั่วโลกถึงพร้อมใจกันออกมารณรงค์ให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าว

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไป ทำความรู้จัก “เชื้อเพลิงฟอสซิล” ให้มากขึ้น พร้อมส่องข้อดีและข้อเสียว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง? 

1. “เชื้อเพลิงฟอสซิล” คืออะไร? 

เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil fuel) คือ อินทรีย์สารใต้พื้นโลกที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์ใต้ทะเลลึก หมักหมมทับถมเป็นเวลาหลายพันล้านปีก่อน พร้อมกับได้รับความร้อนจากใต้พื้นพิภพ

ทำให้ซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันหนาแน่นใต้ชั้นหินตะกอน เกิดการย่อยสลายกลายเป็นแหล่งสะสมของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) ขนาดใหญ่ ที่มนุษย์นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง และแหล่งกำเนิดพลังงานต่างๆ

 

2. เชื้อเพลิงฟอสซิลมี 3 ประเภท นำไปใช้งานแตกต่างกัน

  • ถ่านหิน (Coal)

ถ่านหิน เป็นหินตะกอนสีน้ำตาลดำ เกิดจากซากพืชในพื้นที่ชื้นแฉะทับถมกันเป็นเวลานาน (ราว 300 ถึง 360 ล้านปี) ภายใต้แรงดันและความร้อนสูงที่อยู่ลึกลงไปจากพื้นผิวโลก ส่งผลให้เกิดการย่อยสลายและเกิดเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในสถานะของแข็ง

ถ่านหินแบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ พีต (Peat), ลิกไนต์ (Lignite), ซับบิทูมินัส (Sub-Bituminous), บิทูมินัส (Bituminous) และแอนทราไซต์ (Anthracite)

การนำมาใช้ประโยชน์: เป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่สำคัญในการผลิตพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน และการผลิตข้าวของเครื่องใช้มากมาย

ผู้ผลิตหลัก: จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา 

 

  • น้ำมันดิบ (Crude oil)

น้ำมันดิบ ประกอบด้วยคาร์บอน (Carbon) และไฮโดรเจน (Hydrogen) เป็นองค์ประกอบหลักมีสถานะเป็นของเหลวที่มีสีสันหลากหลาย และมีอัตราความหนืดขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมี น้ำมันดิบส่วนใหญ่ก่อตัวขึ้นในช่วง 66 – 252 ล้านปีก่อน โดยเกิดจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์ใต้ท้องทะเลในอดีต

การนำมาใช้ประโยชน์: น้ำมันดิบต้องนำไปผ่านกระบวนการกลั่นและกระบวนการผลิตแยกส่วน กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม” หลายชนิด เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน และน้ำมันเตา

ผู้ผลิตหลัก: สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย

 

  • ก๊าซธรรมชาติ (Natural gas)

ก๊าซธรรมชาติไร้สีและไร้กลิ่น ประกอบด้วยมีเทน (Methane) เป็นหลัก เกิดจากกระบวนการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิตใต้พื้นดินเมื่อหลายล้านปีก่อนเช่นเดียวกับถ่านหินและน้ำมันดิบ

การนำมาใช้ประโยชน์: ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสะอาด เนื่องจากมีกระบวนการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญ

ผู้ผลิตหลัก: สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และอิหร่าน

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากกระบวนการแยกส่วนในการกลั่นน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงฟอสซิล ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้นในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น พลาสติก ผงซักฟอก ยางสังเคราะห์ ปุ๋ยเคมี และกาว เป็นต้น

3. เชื้อเพลิงฟอสซิล เกี่ยวข้องกับ “ภาวะโลกร้อน” ยังไง?

เมื่อเชื้อเพลิงฟอสซิลถูกเผาไหม้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ผลผลิตสุดท้ายที่ปล่อยออกมาคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) ซึ่งคงค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก

ก๊าซเหล่านี้มีความสามารถในการดักจับและกักเก็บความร้อนได้ดี ส่งผลให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” (Global warming) และ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate change) ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศของโลกในขณะนี้

โดยเฉพาะการเผาไหม้ถ่านหินและน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกมากกว่าร้อยละ 75 ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา

แม้ว่าการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้บ้าง แต่ในกระบวนการสำรวจ ขุดเจาะ และขนส่งเชื้อเพลิงฟอสซิล ยังคงสร้างผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมของโลก

4. ข้อดี-ข้อเสีย ของ “เชื้อเพลิงฟอสซิล” 

ข้อดี : ขนส่งง่าย หาซื้อได้ง่าย มีต้นทุนในการผลิตต่ำ และมีปริมาณสำรองมาก สามารถขุดเจาะและนำมาใช้เป็นเชื้อเพลงได้ไม่ต่ำกว่า 220 ปี  

ข้อเสีย : การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล มีผลโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม นั่นคือ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน โดยเกือบ 80% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งสิ้น 

อีกทั้งยังผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ นั่นคือ ก๊าซพิษเหล่านี้เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด ของประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยโรคเรื้อรังเกี่ยวกับปอด

————————————

อ้างอิง : ngthai, renovablesverdes, thaipbs