‘ลูกจ้างรายเดือน’ ได้ ‘ค่าโอที 1.5 เท่า ‘ แรงงานคาด มิ.ย.นี้เสร็จ

1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งในการจัดงานเป็นประจำทุกปี กลุ่มแรงงานมีการยื่นข้อเรียกร้องให้กับแรงงาน  โดยวันแรงงาน ปี  2567 มีการยื่น 10 ข้อ ดังนั้น ก่อนที่จะมีการยื่นนใหม่ “กรุงเทพธุรกิจ”เช็กลิสต์ “ของเก่า”ที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ เป็นความหวังของความต้องการที่แรงงานไทยยังรอ รวมถึง ข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2568 ที่เป็นข้อเสนอใหม่ ซึ่งบางเรื่องนั้นเป็นเรื่องเดียวกับปีก่อน เพราะยังไม่มีการดำเนินการ

10 ข้อเรียกร้องวันแรงงาน 2567

1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง

2.ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง “เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง

3.ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้

  • ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท
  • ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุและรับเงินบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อ ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป
  • เมื่อผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ขอให้คงสิทธิรักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต
  • กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรคร้ายแรงและเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งทุกชนิด ฯลฯ ให้ครอบคลุมถึงการใช้ยารักษาพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ
  • ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อ มาตรา 39 การคำนวณเงินค่าจ้างเดิม 60 เดือน เป็นค่าตอบแทนต่างๆ ขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33
  • ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปี ขยายอายุเป็น 15-70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ
  • ในกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างแรงจูงใจและลดความเหลื่อมล้ำ ให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน

4.ขอให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน

5.ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1

6.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการ จากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง

  • ขอให้ปรับเพิ่มเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจ ให้มากกว่าเงินเดือนข้าราชการตามหลักการเดิมเนื่องจากรัฐวิสาหกิจไม่มีระบบบำนาญและการรักษาพยาบาลหลังการเกษียณอายุเช่นเดียวกับข้าราชการ
  • ขอให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีเงินได้ก้อนสุดท้าย จำนวน 1 ล้านบาท ที่ลูกจ้างออกจากงานทุกกรณี

7.ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว

8.ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน”

9.เมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง ลูกจ้างที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล หากมีค่ารักษาพยาบาลเกินวงเงินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

10.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

ต้องจัดตั้ง “กองทุนประกันความเสี่ยง”

นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า  ข้อเรียร้องของกลุ่มแรงงานเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ยังไม่มีข้อไหนที่ดำเนินการได้ตามข้อเรียกร้อง ซึ่งในปี 2568 ที่มี 9 ข้อจึงมีหลายข้อที่เป็นข้อเรียกร้องเหมือนกับปีที่ผ่านมา ซึ่งข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุดเพราะทำให้มาตรฐานการทำงานของลูกจ้างมั่นคง คือ “การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง” เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง โดยเฉพาะกรณีการถูกเลิกจ้างแล้วนายจ้างไม่จ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย

อย่างตอนนี้ กรณีของบริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ที่เลิกจ้างแล้วลูกจ้างไม่ได้รับเงินชดเชย จนต้องเรียกร้องกันอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งหากจ่ายชดเชยให้ครบทุกคนจะมีมูลค่าถึงราว 400 ล้านบาท  และที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ให้เห็นเป็นประจำทุกปี หากเป็นรายย่อยๆก็ไม่เป็นข่าว แต่หากมีลูกจ้าง 50-70 คนก็จะเป็นข่าวให้เห็น

“หากมีกองทุนนี้ก็จะทำให้ลูกจ้างมีหลักประกันมาตั้งแต่ต้นว่าหากถูกเลิกจ้าง  จะมีเงินจ่ายชดเชยให้ได้ตามกฎหมาย แม้ว่าจะถูกนายจ้างหอบเงินหนีจนทำให้ลูกจ้างไม่ได้เงินเลยเหมือนที่พบเจออยู่ในปัจจุบัน เมื่อมีกองทุนนก็จะมีเงินจากส่วนนี้จ่ายให้ลูกจ้างแทนนายจ้าง”นายพนัสกล่าว

ดึงเงินนายจ้างเข้ากองทุนฯสกัดหอบเงินหนี

นายพนัส กล่าวอีกว่า เรื่องนี้มีการดำเนินการได้ครึ่งทางแล้ว อยู่ที่นายจ้างเมืองไทยจะค้านหรือไม่  ซึ่งอาจจะดำเนินการด้วยการแก้พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์ให้เข้มข้นขึ้นได้  ส่วนจะกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายสัดส่วนเท่าไหร่ก็ต้องมีการหารือกัน และไม่ต้องจ่ายตลอดเพียงแต่จ่ายให้ครบตามจำนวนวันที่กำหนดให้ชดเชย เช่น 400 วัน เมื่อนายจ้างจ่ายครบแล้วก็ไม่ต้องจ่ายแล้วเนื่องจาก มาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยกรณีมีการเลิกจ้างให้ลูกจ้างอยู่แล้ว

“กองทุนนี้ก็เหมือนเป็นการนำออกเงินจากนายจ้างออกมาไว้ที่กองทุนประกันความเสี่ยงเพื่อเป็นหลักประกันให้ลูกจ้าง มิฉะนั้น ก็จะมีการตั้งงบประมาณหลอกไว้ในงบประมาณผลประโยชน์พนักงานปีหน้า เป็นผลประโยชน์ค้างชำระ แต่พอเจ๊งนายจ้างก็หอบเงินหนีไปด้วย แต่หากแก้กฎหมายเรื่องนี้ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก็คงถูกทุนนิยมค้านแหลกลานไปหมด”นายพนัสกล่าว

โอทีลูกจ้างรายเดือน 1.5 เท่าคาดเสร็จมิ.ย.นี้

นายพนัส กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อเรียกร้องในปี 2568 เรื่องที่ให้แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ให้ลูกจ้างรายเดือนที่ทำงานล่วงเวลาได้รับค่าล่วงเวลาหรือโอที 1.5 เท่า เช่นเดียวกับพนักงานรายวันนั้น ฝ่ายกระทรวงก็รับว่าเดือนมิ.ย.2568นี้จะเสร็จ

ฉายภาพปัญหาที่แรงงานต้องเผชิญ

ในส่วนของสถานการณ์ปัญหาที่แรงงานไทยกำลังเผชิญ นายพนัส มองว่า  ขณะนี้หลายๆบริษัทมีการปิดกิจการในประเทศไทย อย่างบริษัทรถยนต์ต่างๆ  รวมถึง หลายกิจการทยอยไปเปิดที่ประเทศอื่นแล้ว

หรือหลายโรงงานในประเทศไทยหากส่วนที่เป็นค่าแรงถูกก็ส่งไปทำที่ประเทศเวียดนาม ส่วนที่เป็นเทคโนโลยีใช้ฝีมือก็อยู่ที่ประเทศไทย   ซึ่งบริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น หิ้วมาเพียงกระเป๋า ถ้าบรรยากาศการลงทุนเสียเขาก็ไม่อยู่ เหล่านี้เป็นเรื่องที่แรงงานจะต้องรับรู้กับสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งต้องมีการพัฒนาศักญภาพตัวเองเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงด้วย

9 ข้อเรียกร้องวันแรงงาน ปี 2568

ทั้งนี้ 1 พ.ค. วันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2568  กลุ่มแรงงานมีข้อเรียกร้อง  จำนวน 9 ข้อ

1.ให้รัฐบาลเร่งรัดการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ.1948 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ค.ศ.1949

2.ให้รัฐบาลตราพ.ร.บ. หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง

3.ให้รัฐบาลยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้จากเงินก้อนสุดท้ายที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้าง เมื่อพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างในทุกกรณี ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจในวงเงิน 1 ล้านบาท

4.ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถอยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และมีลักษณะการจ่ายเงินร่วม (co-payment) เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทยอย่างเป็นธรรม

5.ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม

  • ปรับฐานการรับเงินบำนาญ ให้มีรายรับไม่น้อยกว่า 5,000 บาท
  • กรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุ และรับเงินบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป
  • ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 การคิดคำนวณเงินบำนาญขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33
  • เมื่อผู้ประกันตนรับบำนาญแล้ว ให้คงสิทธิรักษาพยาบาลตลอดชีวิต
  • กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลโรคร้ายแรงและเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งทุกชนิด ให้ครอบคลุมถึงการใช้ยารักษาพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ
  • ขยายอายุผู้เริ่มเข้าเป็นผู้ประกันตนจากเดิม 15-60 ปี เป็น 15-70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ

6.ให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ดำเนินการให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม.11/1 อย่างเคร่งครัด

7.ให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงาน เป็น กรมความปลอดภัยแรงงาน

8.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2541 กฎกระทรวงฉบับที่ 8 ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2541 และกฎกระทรวงฉบับที่ 13 ลงวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2543 ซึ่งทั้ง 3 ฉบับออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีข้อความตัดสิทธิลูกจ้างรายเดือนที่ทำงานล่วงเวลาไม่ให้ได้รับค่าล่วงเวลา 1.5 เท่า เช่นเดียวกับพนักงานรายวัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รับทราบ และรับว่าจะดำเนินแก้ไขมาก่อนแล้ว
และ 9.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2568