ธงชัย ชี้ ‘มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ยังอยู่กับเรา – ประเทศไทยที่ยัง ‘ค้างเติ่ง’ ไปไม่ถึง ‘รัฐประชาชาติ’

  • ความหมาย – ความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในแต่ละยุคสมัย “คณะราษฎร” ก็เคยถูกนิยามให้เป็นพวกระบอบนี้ด้วย
  • คำถามของ “เบนเนดิกท์ แอนเดอร์สัน” ปฏิรูปสยามสมัย ร.5 ดูเหมือน “Absolutist state ของยุโรป ไม่ใช่ “รัฐประชาชาติ (Nation state)”
  • “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” และ ”ชาติ” ในความหมายที่ไม่น่าจะหมายถึงประชาชน
  • “รัฐราชาชาติ” หรือนี่คือสิ่งที่ยัง “ค้างเติ่ง” หลังปฏิวัติ 2475 “ประเทศไทย” ยังไปไม่ถึง “รัฐประชาชาติ”

20 มิ.ย.2564 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา คอมมอน สคูล (Common school) จัดกิจกรรม “ตลาดวิชาอนาคตใหม่” เปิดบรรยายหลักสูตร วิชา ประวัติศาสตร์นอกขนบ รายวิชาย่อย สยามยุคกึ่งจักรวรรดิกึ่งอาณานิคม ซึ่งเป็นการบรรยายครั้งสุดท้ายของธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ Wisconsin Madison สหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ สมบูรณาญาสิทธิราชย์และมรดก โดยมี ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ดำเนินรายการ ทั้งนี้ ธงชัยเริ่มต้นจากกระแสพูดถึงการบรรยายที่ผ่านมา และมีข้อถกเถียงในพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้น โดยระบุว่า ดีใจที่ประวัติศาสตร์ที่เหมือนจะไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ได้รับการพูดถึง ตนคิดว่าอุดมการณ์ราชาชาตินิยมต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์จริงจัง ซึ่งเรื่องนี้ในวงวิชาการมีการพูดบ้างแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายถึงข้างนอก โดยหวังว่าครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ และเป็นที่รับรู้ทั่วไป

ความหมาย – ความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในแต่ละยุคสมัย “คณะราษฎร” ก็เคยถูกนิยามให้เป็นพวกระบอบนี้ด้วย

ธงชัย กล่าวว่า ความหมายตามคำของคำว่า สมบูรณาญาสิทธิราชญ์ คือสภาวะความเป็นกษัตริย์ ที่มีอำนาจลงโทษสมบูรณ์ เป็นเจ้าชีวิต ที่มีอำนาจเหนืกฎหมายอย่างสมบูรณ์ คำนี้ปรากฏในช่วงครึ่งหลังทศวรรษ พ.ศ. 2460 แปลจากการใช้ทับศัพท์ว่าแอบโซลูตโมนากี ในเอกสารคำกราบบังคมทูลของกลุ่มเจ้านาย ร.ศ. 103 ก็มีใช้คำนี้แล้ว ความเข้าใจทั่วไปสมัยนั้นถือว่าสยามอยู่ในระบบนี้ตั้งแต่อยุธยา และคำนี้มักถูกใช้ในความหมายลบ เช่น ล้าหลัง อยุติธรรม เริ่มใช้แล้วตั้งแต่สมัย ร.5, 6, 7 กระทั่งหลัง เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ความหมายด้านลบนี้ก็ยังใช้อยู่ และก็ยังให้ความหมายว่าเป็นระบบการปกครองที่เป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หลายคน รวมทั้งคนที่เชียร์คณะราษฎรเองก็ให้ความเห็นว่ากษัตริย์ไทย ไม่มีอำนาจเด็ดขาดจริงๆ เป็นแต่ชื่อ หรือเป็นของหลอกเล่น เพราะสมัยก่อนเป็นระบบศักดินา

“ในช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎรยังดำเนินอยู่ ฝ่ายเจ้าใช้คำว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเชิงลบด้วย แต่ใช้ในเชิงว่าคณะราษฎรต่างหากที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หมายถึง Dictator หรือเผด็จการ ที่ก่อความอยุติธรรม กดขี่ข่มเหงราษฎร พร้อมกับได้แก้ตัวไว้ว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยมีมาแต่โบราณ เติบโตพัฒนามาจนลงตัว เพราะฉะนั้น ประชาชนรักกษัตริย์ เชื่อฟัง รับได้ รักระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เป็นเพียงในนิตินัยเท่านั้น แต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของคณะราษฎรต่างหาก เป็นเผด็จการในทางพฤตินัย ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ต่อมาในช่วงที่มาร์กซิสม์มีอิทธิพลในสังคมไทย พ.ศ.2490-2500 จิตร ภูมิศักดิ์, อุดม สีสุวรรณ มาร์กซิสม์ไทยเหล่านี้ไม่นิยมใช้คำว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ใช้คำว่า ศักดินาแทน เพราะมีนัยความหมายในเชิงเศรษฐกิจในแง่การครองครอบปัจจัยการผลิต ในแง่การพูดถึงชนชั้น ไม่ใช่ระบอบปกครอง และมาร์กซิสม์ไทยก็ถือว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองของสยามมาแต่โบราณจนถึง 2475 เหมือนกัน” ธงชัย กล่าว

คำถามของ “เบนเนดิกท์ แอนเดอร์สัน” ปฏิรูปสยามสมัย ร.5 ดูเหมือน “Absolutist state ของยุโรป ไม่ใช่ “รัฐประชาชาติ (Nation state)”

ธงชัย กล่าวว่า นับแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นต้นมา นักวิชาการเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมสังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เดินหน้าสู่สมัยใหม่ ซึ้งถ้าการปฏิรูปสมัย ร.5 ทำให้สังคมไทยเป็นรัฐประชาชาติ เดินหน้าสู่ประเทศพัฒนาเหมือนประเทศอื่นๆ ทำไมเราไม่เป็น ทำให้เริ่มเกิดคำถามว่า หรือการปฏิรูปไม่ใช่ทำให้เกิดรัฐประชาชาติ ไม่ทำให้เจริญรุ่งเรือง และก็ย้อนไปจนศึกษาถึงว่า สยามไม่เสียเอกราชจริงเหรอ และคนที่ตั้งคำถามนี้ได้แก่ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ในงานชิ้นสำคัญเรื่องศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา ในปี พ.ศ.2522  แอนเดอร์สันเห็นว่า ที่ผ่านมานักวิชาการ ที่ค้นคว้าเกี่ยวกับเมืองไทย เราเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง ไม่อย่างนั้นทำไมเราอธิบาย 6 ตุลา 19 ไม่ได้จนกระทั่งมันเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ตนคนเดียว ที่เห็นว่าต้องตามหาความยุติธรรมให้กับ 6 ตุลา 19 ให้ได้ แอนเดอร์สันก็คิดเช่นกัน และก็แปลเป็นพลังทางวิชาการ ตั้งถามกับไทยศึกษาว่าเราเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยอะไรผิดไปหรือเปล่า ตั้งถามกับคำว่าสยามไม่เคยเสียเอกราช การปฏิรูปสมัย ร.5 เพื่อความทันสมัยจริงเหรอ กษัตริย์มีสายตายยาวไกลเป็นผู้สร้างความเจริญให้ทันสมัยให้กับรัฐประชาชาติไทยอย่างนั้นเหรอ เราต้องการกรอบการศึกษาอย่างใหม่เกี่ยวกับยุคสมัยดังกล่าว  ซึ่งแอนเดอร์สัน เสนอว่า รัฐที่รวมศูนย์อำนาจของสยามที่เป็นผลจาการปฏิรูป ไม่ใช่รัฐประชาชาติ (Nation state) แต่ดูเหมือน Absolutist state ของยุโรป และงานของคนรุ่นต่อมาก็ได้ศึกษาต่อยอดคำถามที่ท้าทายทั้งชุดนี้ และยืนยันว่าความสงสัยของแอนเดอร์สันนั้นรับฟังได้

“ปี 2525 นักวิชาการไทยคนสำคัญ 2 คน คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ สมเกียรติ วันทะนะ ใช้คำว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในความหมายแบบแอนเดอร์สัน หมายถึงว่าในรัชกาล 5 -6-7 เท่านั้น ไม่รวมก่อนหน้านั้น และความหมายนี้จึงเริ่มได้รับการยอมรับ ทั้งที่ก่อนนั้น รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะรวมไปจนถึงอยุธยา ด้วยเหตุนี้ คนเหล่านี้จึงเห็นว่า การทึกทักว่าชาติไทยก่อนการปฏิรูปเป็นรัฐประชาชาติที่ยังไม่เจริญ หลังการปฏิรูปถึงเป็นรัฐประชาชาติที่เจริญทันสมัย พวกเขาไม่เห็นด้วยกับกับความคิดนี้ แต่ต่อยอดจาก แอนเดอร์สัน ที่กล่าวแต่เพียงว่า รัฐที่เป็นผลจากการปฏิรูปดูเหมือนเป็น National state คือ เป็นรัฐที่มีลักษณะเป็นชาติ แต่เขาไม่ได้บอกเป็นรัฐประชาชาติ” ธงชัย กล่าว

“สมบูรณาญาสิทธิราชย์” และ ”ชาติ” ในความหมายที่ไม่น่าจะหมายถึงประชาชน

ธงชัย กล่าวอีกว่า รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยาม เรียกตัวเองว่าเป็นชาติ  คือ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำว่าชาติในความหมายที่หมายถึงประเทศเริ่มใช้ในสังคมไทยตั้งแต่สมัย ร.5 แล้ว แต่คำถามที่ควรขบให้แตกมากกว่าคือเมื่อพูดถึงชาติ เขาหมายถึงอะไร แต่เนื่องจากสังคมไทยในเวลาต่อมา ก่อน พ.ศ.2525 ทึกทัก แปลคำว่าชาติเป็น Nation state เสมอ เมื่อกลับไปอ่านเอกสารก็เลยจะบอกว่า ปฏิรูป ร.5 เป็น Nation state แล้ว ซึ่งยุคก่อนหน้านี้ก็เป็นแค่ Nation state  ที่ไม่เจริญเท่านั้นเอง เราทึกทักว่าชาติเท่ากับรัฐประชาชาติ คนที่เชิดชูการปฏิรูปมักอธิบายทำนองนี้ว่ามีชาติแล้ว แต่ที่ต้องคิดคือชาติที่พูดกันนั้นหมายถึงอะไรกันแน่  เพราะชาติมิได้หมายถึงรัฐประชาชาติเพียงแบบเดียว สามารถมีชาติได้หลายแบบ ซึ่งแอนเดอร์สันได้อธิบายว่า รัฐสยามก่อนปฏิรูปก็ไม่ใช่รัฐชาติ แต่เป็นรัฐศักดินา ดังนั้น รัฐสยามช่วงนั้นจึงเกิดการเปลี่ยนผ่าน จากรัฐแบบศักดินาของเจ้าจักรวรรดิระดับภูมิภาคสู่รัฐสมัยใหม่ที่มีลักษณะเป็นชาติ คือเป็น  National state นั่นคือสิ่งที่ต่อมาเรียกรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่คล้ายเป็น  Absolutist state  ในยุโรป ซึ่งในความหมายทั่วไปคือ รัฐที่ระบอบที่อำนาจรวมศูนย์ที่กษัตริย์ รัฐที่สถาปนาดินแดนแบบเป็นปึกแผ่น ไม่ใช่รัฐแบบฟิวดัล กษัตริย์เป็นผู้สถาปนากฎหมาย เป็นแหล่งที่มาของกฎหมาย จึงอยู่เหนือกฎหมาย รัฐในระยะเปลี่ยนผ่านจากรัฐฟิวดัลเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ คือ National state ไม่ใช่  Nation state ในความหมายรัฐประชาชาติ

“เพราะว่ารัฐประชาชาติ คือ รัฐที่ประชาชาชนมีความสัมพันธ์เท่าเทียมกันในแนวราบ และเห็นว่า ชุมชนที่เขาสังกัดอยู่นั้นมีความมุ่งหมาย หรือเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเดียวกัน ชุมชนนั้นจะนิยามด้วยดินแดน กฎหมาย รัฐบาล แต่ที่สำคัญคือประชาชน หรือประชาชาติที่เท่าเทียมกัน สมัครใจร่วมอยู่ในดินแดนนั้นและตั้งให้บางคน บางกลุ่มมีอำนาจปกครอง คือมีนัยยะที่มาจากข้างล่าง เพราะเกิดการปฏิวัติโดยชนชั้นกลาง เกิดการต่อสู้ ลดอำนาจสถาบันกษัตริย์ จนถึงโค่นสถาบันกษัตริย์ขึ้นมากมาย เพื่อจัดตั้งรัฐประชาชาติขึ้น ไม่ว่าจะยอมให้กษัตริย์ยังคงมีอยู่หรือไม่ก็ตาม นี่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชน ช่วงระหว่างรัฐศักดินาสู่รัฐประชาชาติ ระยะตรงกลางที่กินเวลายานนานพอสมควรในประวัติศาสตร์ยุโรป คือ Absolutist state  คือการที่กษัตริย์มีอำนาจรวมศูนย์ พอเป็นรัฐประชาชาติ อำนาจรวมศูนย์ไม่ได้อยู่ที่กษัตริย์แล้ว” ธงชัย กล่าว

“รัฐราชาชาติ” หรือนี่คือสิ่งที่ยัง “ค้างเติ่ง” หลังปฏิวัติ 2475 “ประเทศไทย” ยังไปไม่ถึง “รัฐประชาชาติ”

ธงชัย กล่าวว่า สยามก็มีลักษณะทำนองเดียวกัน รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยาม หรือรัฐสมัยใหม่ระยะแรก เป็นรัฐยุคปลายศักดินา เมื่อระบบศักดินาเสื่อมสลาย มีการผนวกดินแดน ผนึกเป็นเอกภาพ อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนภายใต้อำนาจสูงสุดเป็นของกษัตริย์ ระบบราชการแบ่งงานตามหน้าที่ และรวมศูนย์ กษัตริย์เป็นอำนาจสถาปนาและบัญญัติกฎหมาย จึงอยู่เหนือกฏหมาย แต่ก็มักมีข้อโต้แย้งว่า 1.สยามไม่เคยเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะรัฐศักดินาไม่ครอบคลุมเข้มข้นทุกแว่นแค้วนหรือประเทศราชในพระราชอาณาจักร 2. อำนาจกษัตริย์ไม่เคยสมบูรณ์จริง และ 3.อำนาจจำกัดด้วยพระธรรมศาสตร์และหลักธรรมของกษัตริย์ โดยเฉพาะทศพิธราชธรรม ซึ่งข้ออ้างเหล่านี้ไว้แก้ตัวให้กษัตริย์องค์นั้นองค์นี้ได้ ไม่ได้เปลี่ยนคำอธิบายเรื่องลักษณะของรัฐ โดยสรุป สิ่งที่นักวิชาการเสนอล่าสุด คือบอกว่า ร. 5 ปฏิรูปเพื่อชาติ ชาติของพระองค์สามารถอธิบายได้ว่าหมายถึงรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รวมศูนย์ที่กษัตริย์ ยังไม่ใช่รัฐประชาชาติ

“แอนเดอร์สันตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ‘รัฐไทยหลัง 2475 เป็นรัฐที่ค้างเติ่งอยู่ระหว่างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของกษัตริย์กับชาตินิยมมวลชน’ ซึ่งถามว่าตกลงหมายถึงรัฐอะไรล่ะ หรือว่า หมายถึง ‘รัฐราชาชาติ’ เป็นไปได้หรือไม่ เรายังไม่เป็นรัฐประชาชาชาติ ผมตั้งคำถามว่า แม้กระทั่งหลัง พ.ศ.2490 ที่อำนาจฝ่ายเจ้ากลับมาจนปัจจุบัน เราจะบอกได้มั้ยว่า ปัจจุบันเราก็ยังค้างเติ่งอยู่ระหว่าง สมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับ รัฐประชาชาติ เราจะบอกได้มั้ยว่า ‘กึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ สำหรับผมคิดว่า เบนเนดิกท์ แอนเดอร์สันกำลังพูดถึงบางอย่างซึ่งผมเรียกว่า รัฐราชาชาติ” ธงชัย กล่าว

“มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในสภาวะสมัยใหม่ คู่ขัดแย้งแบบไทยๆ?  ซึ่งเป็นปัญหาที่รอวันแก้ไข

ธงชัย กล่าวว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นช่วงเวลาที่นิยามสร้างยุคสมัยใหม่ เป็นเวลาที่รัฐไทยและสังคมไทยเลือกทางเดินสำคัญๆ ที่มีผลกำหนดอนาคตของสยามประเทศต่อมาอีกนาน เป็นยุคที่วางรากฐาน เสาเข็ม โครงสร้างของรัฐและสภาวะสมัยใหม่ของสังคมไทยมาจนปัจจุบัน สังคมไทยเปลี่ยนไปมาก แต่ฐานราก เสาเข็มและโครงสร้างสำคัญกลับยังไม่เปลี่ยนมาก สิ่งที่เป็นฐานราก เสาเข็ม โครงสร้างซึ่งก่อตัวสมัยนี้ ได้แก่ระบอบภูมิปัญญา อำนาจ วัฒนธรรม และวาทกรรมสำคัญ ต่อไปนี้ 1. สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ที่มีบทบาทสาธารณะและศักดิ์สิทธิ์จนแต่ต้องไม่ได้ ซึ่งสองอย่างนี้คือบทบาทสาธารณะกับตรวจสอบไม่ได้นั้นไปด้วยกันไม่ได้ 2.อำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ยังเป็นปัญหาใจกลางของการพัฒนาประชาธิปไตย จะเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้ จะเลิกอำนาจกษัตริย์ก็ไม่ยอม สองอย่างนี้ไปกันไม่ได้ ก่อปัญหามาตลอด ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ความย้อนแย้งนี้ระเบิด  3.รัฐเดี่ยวแข็งทื่อตายตัว จนเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ ทั้งๆ ที่สังคมต้องการกระบายอำนาจ นี่เป็นปัญหาใหญ่มากที่ความต่างขั้วทั้งผลักทั้งดึงกัน

“4.เราสร้างนิติศาสตร์และระบบกฎหมาย ที่ยึดกษัตริย์เป็นอำนาจสถาปนา และให้อภิสิทธิ์แก่รัฐและผู้รับใช้ ซึ่งไปได้เลยกับนิติรัฐ  5.ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม 6. พุทธศาสนาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของชาตินิยมไทยและความมั่นคงของชาติ ทั้งๆ ที่เราบอกเราให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ดังนั้น ควรทำให้พุทธศาสนาเป็นกิจปัจเจกชน หากแต่สังคมไทย พุทธศาสนายังเป็นองค์ประกอบหนึ่งชาตินิยมไทยและความมั่นคง เป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก” ธงชัย กล่าว

“สปีช” ส่งท้ายการบรรยาย ปลุกเปิดทางให้ “ประวัติศาสตร์นอกขนบ” ได้มีพื้นที่ในสังคมไทย

ธงชัย กล่าวทิ้งท้ายการบรรยาย ตอนหนึ่งว่า นับจากประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมได้รับการสถาปนา เราต้องสมาทานรับเอาประวัติศาสตร์จากทัศนะเจ้ากรุงเทพเป็นประวัติศาสตร์ทัศนะของเรา ทำไมเราต้องถือว่าเจ้ากรุงเทพเท่ากับชาติ ทำไมเราต้องถือว่าประวัติศาสตร์เจ้ากรุงเทพเท่ากับประวัติศาสตร์ของชาติ แถมเป็นทัศนะที่รัฐใช้ในการอ้างบุญอ้างคุณจากประชาชนย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นอารยธรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านที่เราเรียกสมัยนี้ว่าประเทศไทย จึงเป็นการผิดฝาผิดตัว  ทำไมเราจึงไม่ถือว่าประวัติศาสตร์จากทัศนะของเจ้ากรุงเทพ ก็เป็นประวัตติศาสตร์ของเจ้ากรุงเทพ จบ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น ไม่ต้องลบ ไม่ต้องรังเกียจ ไม่ต้องกำจัดให้หมด แล้วใครอยากสมาทาน อยากจำอดีตอย่างนั้นก็เชิญ มีเสรีภาพทำได้ แต่อย่าบังคับ ปิดกั้น ลงโทษ คนที่ไม่ยินดีจะสมาทานประวัติศาสตร์แบบนั้น ขอแค่นี้

“ใครจะรักเจ้าในผมไม่รังเกียจ ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น ใครจะรักเจ้าก็ได้ แต่อย่ามาจับ และไม่ยอมให้ประกันคนที่เพียงแค่ขอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อันนั้นรังแกกันมากไป  การโต้แย้ง ท้าทายประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ผมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำให้กษัตริย์หรือชนชั้นนำในอดีตกลายเป็นผู้ร้าย เพียงแค่ทำให้เขาเป็นมนุษย์มนา ไม่ใช่เทพเทวดาก็พอแล้ว จงเปิดโอกาสให้ประวัติศาสตร์ด้านอื่นๆ ทัศนะด้านอื่นๆ ทั้งหลายเป็นที่รับรู้ท้าทายกันได้ โต้แย้งกันได้อย่างมีเสรีภาพ เพราะการทำให้ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ เป็นยากล่อมประสาทผู้คนตั้งแต่เด็กจนโต ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เช้ายันเย็น ทุกฤดูกาล ตลอด 12 เดือนของแต่ละปี เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของมนุษย์ที่เรียกว่าคนในประเทศไทย เพราะมันทำลายศักยภาพทางปัญญาของประชาชน” ธงชัย กล่าว